วันที่ 26 เมษายน 2566 ดร.ทิพาจินต์ ไทยพิสุทธิกุล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล (ICT Mahidol) เป็นผู้แทน คณบดี กล่าวเปิดกิจกรรม “ช้อป ชม ชิม ของดีชุมชนคลองมหาสวัสดิ์” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สุดสงวน งามสุริยโรจน์ อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ กล่าวรายงานกิจกรรมที่คณะ ICT ดำเนินการร่วมกับชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ ณ ลาน Innovative Space คณะ ICT มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
กิจกรรมภายในงานมีการออกบูธแสดงสินค้าจากชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ให้คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ได้เลือกช้อป ชม ชิม สินค้าชุมชนอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น บ้านฟักข้าว ข้าวตัง บ้านศาลาดิน สวนผลไม้ลุงบุญเลิศ และไอศกรีม อีกทั้งยังมีการเล่าเรื่องของดีชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และการเสวนาของดีจากชุมชนที่มาร่วมออกบูธแสดงสินค้าจากคุณจงดี เศรษฐอำนวย สวนผลไม้ลุงบุญเลิศ คุณวันชัย สวัสดิ์แดง บ้านศาลาดิน และคุณขนิษฐา พินิจกุล บ้านฟักข้าว โดยมี คุณนพดล โอวาทมหาศิลป์ รักษาการหัวหน้างานโสตและเทคโนโลยีสื่อการศึกษา เป็นพิธีกรดำเนินการเสวนา
นอกจากนี้ ยังมีการเปิดตัวแอปพลิเคชัน “ระบบอีคอมเมิร์ซสำหรับผลิตภัณฑ์ของชุมชนมหาสวัสดิ์ (E-Commerce Platform for Mahasawat Products)” ซึ่งเป็นผลงานจากนักศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT หลักสูตรนานาชาติ) คณะ ICT ประกอบด้วย นายศิริชัย แซ่ย้าง นางสาวพรรณปพร ศิริชาติวงศ์ และนายนิตยสิทธิ์ ชาตรีวุฒิชัย โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.สุดสงวน งามสุริยโรจน์ อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา โดยผลงานนี้ ยังได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการสนับสนุนการประยุกต์ ICT ที่ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน (ICT SENIOR PROJECT GRANT for Sustainable Development Goals related projects (17SDGs)) ของคณะฯ อีกด้วย
กิจกรรม “ช้อป ชม ชิม ของดีชุมชนคลองมหาสวัสดิ์” เป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการพัฒนาการเรียนรู้เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงดิจิทัลของชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ ซึ่งโครงการฯ นี้ เป็นโครงการภายใต้โครงการพันธกิจสัมพันธ์กับสังคม (Social Engagement) ด้านบริการวิชาการเพื่อการนำเอาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ มาใช้ในการพัฒนาชุมชน ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ยกระดับไปสู่การจัดการตนเองของชุมชนในอนาคต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และขับเคลื่อนพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชน ตลอดจนเพื่อประชาสัมพันธ์สินค้า OTOP ของชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย