HIGHLIGHTS
โครงงานวิจัย เรื่อง “ไกด์คลาส : ห้องเรียนแห่งศตวรรษที่ 21 ผ่านเกมความเป็นจริงเสริมที่ประยุกต์ใช้การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (KideClass : 21st Century Classroom through Cultural-Tourism-based AR Game)” อีกหนึ่งผลงาน Senior Project ของนักศึกษาชั้นปี 4 คณะ ICT ม.มหิดล ที่ได้รับการคัดเลือก เพื่อรับทุนสนับสนุนโครงงานวิจัยระดับปริญญาตรี (Senior Project) สำหรับนักศึกษาที่ทำโครงงานวิจัยด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม จากคณะฯ ในปีการศึกษา 2562 สมาชิกในทีมประกอบด้วย นายเกียรติคุณ อมรรัตน์ (เก่ง) สาขาระบบเครือข่ายสื่อสาร (Computer Network), นางสาวอัณณ์ อารยะพิพัฒน์กุล (เน้ย) และ นางสาวณัฐณิชา อ้นวงษ์ (มายด์) สาขาระบบฐานข้อมูลและระบบเชิงฉลาด (Database and Intelligent System) ซึ่ง ทั้ง 3 คนกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 โดยมี ดร.ปวิตรา เลี่ยมรักษ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา Project
วันนี้พี่ ๆ ทีมงาน ICT Spotlight ได้สัมภาษณ์น้อง ๆ กลุ่มนี้ เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ในการขอรับทุนว่าต้องมีเทคนิคอย่างไรให้ผ่านการคัดเลือก ประสบการณ์ในการทำโครงงานวิจัยนั้นจะต้องผ่านบททดสอบอะไรบ้าง ติดตามอ่านกันเลยค่ะ
อยากให้แนะนำเรื่องทุนฯ ว่ามีเกณฑ์หรือคุณสมบัติพิเศษอะไรที่กำหนดไว้บ้าง
ทุนนี้มีชื่อว่า “ทุนสำหรับโครงงานวิจัยระดับปริญญาตรี (Senior Project)” ซึ่งหาก Project ที่เราทำอยู่นั้นเกี่ยวข้องกับด้านศิลปวัฒนธรรม ไม่ว่าจะโดยตรงหรือทางอ้อมก็ถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับการเข้าร่วม ที่เหลือก็ไปดูต่อที่เกณฑ์การพิจารณา ซึ่งการจะได้รับทุนสนับสนุนนั้น จะต้องจัดทำเล่มรายงานส่งเพื่อพิจารณาทุน โดยเล่มรายงานนั้นต้องมีเนื้อหาครบถ้วน บอกประโยชน์ของสิ่งที่ทำอย่างชัดเจน สามารถวัดผลได้จริง และขอบเขตของงานต้องไม่ใหญ่จนดูไม่น่าจะทำเสร็จ ที่เหลือนั้นก็ขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ และฝีมือการนำเสนอของแต่ละคนแล้วว่าจูงใจกรรมการได้แค่ไหน
ช่วยอธิบายถึง โครงงานวิจัย (Senior Project) ที่น้องๆ ทำว่าเป็น Project เกี่ยวกับอะไร และมีวัตถุประสงค์อะไรบ้าง
KideClass (ไกด์คลาส) คือห้องเรียนแห่งศตวรรษที่ 21 ในรูปแบบแอปพลิเคชันเกม โดยใช้ความเป็นจริงเสริม หรือที่เรียกว่า AR (Augmented Reality) ถ้าใครที่ยังสงสัยว่า AR เป็นอย่างไรให้ลองนึกถึงเกมชื่อดังอย่าง Pokemon Go ที่มีโปเกม่อนยืนอยู่บนโลกจริงผ่านจอโทรศัพท์ ซึ่งไกด์คลาสเองก็ได้นำ AR มาประยุกต์ใช้กับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน โดยชุมชนนำร่องสำหรับโครงการนี้คือชุมชนมหาสวัสดิ์ ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
วัตถุประสงค์ของไกด์คลาสคือการพัฒนาเทคโนโลยีทางการศึกษา เพื่อช่วยพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ในเด็ก ๆ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ที่มีอายุระหว่าง 6-8 ปี เนื่องจากการศึกษาในห้องเรียนเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถถ่ายทอดทักษะศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ไกด์คลาสยังส่งเสริมให้เกิดการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวชุมชนมหาสวัสดิ์เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย โดยภายในเกมไกด์คลาสจะมีการเล่าเรื่องราวของชุมชน มีการจำลองสถานการณ์และบอกเล่าประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรม ซึ่งสามารถส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านสถานที่จริงและสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ที่จะนำไปสู่การพัฒนาทักษะของเด็ก ๆ
เพราะอะไรจึงเลือกทำ Senior Project เรื่องนี้
เนื่องจาก Project นี้เป็นโครงการที่เป็นความร่วมมือระหว่างคณะ ICT และชุมชนมหาสวัสดิ์ ซึ่งพวกเราได้มีโอกาสเข้าไปท่องเที่ยวที่ชุมชนแห่งนี้ก่อนที่จะเริ่มทำ Project ทำให้พวกเราได้สัมผัสถึงความอบอุ่นและความเป็นกันเองของชาวบ้านในชุมชน
นอกจากนี้ ชุมชนยังสามารถอนุรักษ์ความเป็นธรรมชาติในเชิงเกษตร และวัฒนธรรมไว้ได้อย่างดีเยี่ยม ชาวบ้านในชุมชนมหาสวัสดิ์มีอาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง ในกระแสของโลกที่สับสนวุ่นวายในขณะนี้ พวกเราในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่ อยากจะนำความรู้ต่าง ๆ ที่พวกเราได้ศึกษามาในคณะ มาช่วยพัฒนาและสนับสนุนให้ชุมชนเป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดรายได้ให้กับชุมชนและทำให้ชาวบ้านสามารถมีรายได้เลี้ยงตนเองอย่างยั่งยืน
อะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดในการทำ Project นี้
สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับกลุ่มเราคือ การทำให้ผลิตภัณฑ์ของเราตอบโจทย์ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ วัดผลด้วยตัวชี้วัดที่เชื่อถือได้ และแสดงผลลัพธ์ออกมาให้กรรมการยอมรับ นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบของการระบาดของ COVID-19 ทำให้กลุ่มเราไม่สามารถทำการทดสอบแอปพลิเคชันและวัดผลของผู้ทดลองที่จะต้องไปท่องเที่ยวสถานที่จริงได้ เลยจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนในหลาย ๆ อย่าง
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำ Project นี้คืออะไรบ้าง
การทำ Project นี้ทำให้เราได้เรียนรู้หลาย ๆ อย่างเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้วิธีการทำงาน การวางแผน การออกแบบแอปพลิเคชัน การเขียนเกม และสิ่งสำคัญที่สุดที่เราได้เรียนรู้เลย คือการทำงานเป็นทีม และความรับผิดชอบ เพราะการทำ Project นี้ไม่มีเวลาที่แน่นอน เราจึงต้องจัดการตัวเอง ว่าเราจะทำเวลาไหนหรือเราจะพักเวลาไหน สิ่งที่เราได้เรียนรู้อีกด้านก็คือ การลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้เรื่องราวของชุมชน วิถีชีวิตของชาวบ้าน และการได้รับรู้ถึงปัญหาที่พวกเขาเคยประสบพบเจอมา นั่นทำให้เราได้พัฒนาทักษะหลายด้าน ทั้งการพูดคุย การเก็บข้อมูลและการนำข้อมูลมาประยุกต์ใช้กับเกมของเรา ซึ่งในส่วนนี้ก็ช่วยให้เรามีประสบการณ์ในการทำ Project ใหญ่กับคนหลากหลายประเภทมากขึ้น
Project นี้ทำประโยชน์เพื่อสังคมด้านไหน และอย่างไรบ้าง
สิ่งที่ Project นี้เน้นเป็นอันดับแรกเลยคือ ด้านการศึกษาค่ะ เนื่องจากไกด์คลาสเป็นแอปพลิเคชันเกมที่ได้ผลิตขึ้นสำหรับเด็กที่มีอายุระหว่าง 6-8 ปี ซึ่งเกมของเราจะช่วยให้เด็กได้รับการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ผ่านการจำลองด่านต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น การผูกเรื่องราวของเกมกับสถานที่ท่องเที่ยวภายในชุมชนมหาสวัสดิ์ ทำให้เด็ก ๆ ได้รู้จักกับวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นภายในชุมชนผ่านเกมอีกด้วย
อันดับที่สองคือ ด้านการท่องเที่ยว โดยจุดประสงค์ของไกด์คลาสอีกอย่างหนึ่งคือ เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ทำให้ชุมชนมหาสวัสดิ์ได้รับการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักทางด้านแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่ชุมชนแห่งนี้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย
สุดท้าย อยากฝากอะไรกับเพื่อน ๆ น้อง ๆ ที่กำลังเตรียมตัวทำ Senior Project หรืออยากได้รับทุนแบบนี้บ้าง
สำหรับน้อง ๆ ที่กำลังเริ่มคิดหัวข้อการทำ Project อยากให้เริ่มจากการที่เราคิดถึงปัญหาที่อยากจะแก้ก่อน โดยอาจจะเริ่มจากการลงพื้นที่สอบถามปัญหาของคนในพื้นที่ หรือเริ่มจากการที่เราอยากพัฒนาอะไรสักอย่างก่อน แล้วคิดว่าสิ่งนั้นจะสามารถสร้างประโยชน์อย่างไรต่อชุมชนหรือมนุษยชาติได้บ้าง และคิดว่าเทคโนโลยีที่เราเรียนมานั้นจะสามารถนำมาประยุกต์เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาได้ไหม และเราจะใช้มันแก้ปัญหาอย่างไร
ส่วนสำคัญที่สุดในการเตรียมตัวทำ Project คือ เราต้องเข้าใจว่าปัญหาที่แท้จริงเกิดจากอะไร ปัญหานั้นควรแก้ไข หรือควรจะพัฒนาให้ตรงจุดมากกว่า เราควรคิดว่าถ้าเราเป็นคนที่มีปัญหา เราอยากจะให้มีการพัฒนาอย่างไรเป็นต้น
สำหรับ Senior Project เรื่อง “ไกด์คลาส : ห้องเรียนแห่งศตวรรษที่ 21 ผ่านเกมความเป็นจริงเสริมที่ประยุกต์ใช้การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (KideClass : 21st Century Classroom through Cultural-Tourism-based AR Game)” ถือเป็นอีกหนึ่ง Project ที่ช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวในชุมชน โดยนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ได้อย่างลงตัว และช่วยให้เข้าถึงข้อมูลการท่องเที่ยวได้ง่ายขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ ทุกท่านสามารถติดตามผลงาน Senior Project ด้านต่างๆ จากนักศึกษาของคณะ ICT ได้จากคอลัมน์ ICT Spotlight นะคะ