เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อทำให้คุณมีประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ โปรดคลิก “ยอมรับ”

บทสัมภาษณ์ เกล & ปาล์ม นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะ ICT ม.มหิดล สะท้อนประสบการณ์การฝึกงานภาคฤดูร้อนกับ NAIST ประเทศญี่ปุ่น

คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ Software Engineering Research Group ที่ Nara Institute of Science and Technology (NAIST) ประเทศญี่ปุ่น ในการดำเนินโครงการฝึกงานภาคฤดูร้อนอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาหลายปี โดยในปีนี้คณะฯ ได้ส่งนางสาวฐชา เส็ตตีวงค์ (เกล) และ นายณฐนนท ฤทธิ์ตา (ปาล์ม) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ในหลักสูตร ICT นานาชาติ เพื่อไปฝึกงานกับ NAIST ประเทศญี่ปุ่น โดยมี Asst. Prof. Dr. Raula Gaikovina Kula, Prof. Dr. Kenichi Matsumoto และ Assoc. Prof. Dr. Takashi Ishio เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ร่วมกับทีมนักศึกษาระดับมหาบัณฑิตจาก NAIST และทีมคณาจารย์ ICT ม.มหิดล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม ได้แก่ ผศ. ดร. ธันวดี สุเนตนันท์ ดร. มรกต เชิดเกียรติกุล และ ดร. ชัยยงค์ รักขิตเวชสกุล

การฝึกงานภาคฤดูร้อนกับ NAIST ประเทศญี่ปุ่น ของนักศึกษาทั้งสองคนในปีนี้ จำเป็นต้องเข้าร่วมโครงการฝึกงานภาคฤดูร้อนในรูปแบบออนไลน์ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19  อย่างไรก็ดี นักศึกษาทั้งสองได้มีโอกาสทำงานวิจัยด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์ที่กำลังเป็นที่สนใจในปัจจุบัน โดยนางสาวฐชา เส็ตตีวงค์ ทำวิจัยในหัวข้อ “Investigating ownership of self-admitted technical debt” และ นายณฐนนท ฤทธิ์ตา ทำวิจัยในหัวข้อ “Code stylometry and code authorship” ซึ่งนักศึกษาทั้งสองได้เล่าเรื่องราวและสะท้อนถึงประสบการณ์การฝึกงานของตนดังนี้

รู้ได้อย่างไรว่ามีโครงการฝึกงานกับ NAIST ประเทศญี่ปุ่น

ฐชา เส็ตตีวงค์ (เกล): เริ่มต้นจากเกลได้เข้าร่วมงานแนะแนวการฝึกงานต่างประเทศที่ทางคณะฯ จัดขึ้น และทราบว่าการฝึกงานกับ NAIST จะเปิดรับสมัครนักศึกษาชั้นปีที่ 2 เป็นปีแรก เกลรู้สึกสนใจและเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้พัฒนาประสบการณ์ของตัวเองเลยสมัครไปค่ะ

ณฐนนท ฤทธิ์ตา (ปาล์ม): ผมเห็นโพสต์ประกาศรับสมัครนักศึกษาฝึกงานกับ NAIST ประเทศญี่ปุ่น ผ่านทาง Facebook และช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่ผมต้องการหาประสบการณ์ในการฝึกงานพอดี จึงได้เข้าไปศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการฝึกงาน แล้วก็ยื่นสมัครไปครับ

 

ฝึกงานในโปรเจกต์อะไร และได้ทำอะไรบ้าง

ฐชา เส็ตตีวงค์ (เกล): เกลมีความสนใจในเรื่อง Technical Debt และได้ฝึกงานในแล็บ วิศวกรรมซอฟต์แวร์ค่ะ โดยสิ่งที่เกลได้มีโอกาสทำในการฝึกงานอย่างแรกเลยคือ การศึกษาหัวข้องานวิจัยด้วยการอ่านงานวิจัยต่าง ๆ และนำเสนอให้อาจารย์ฟัง จากนั้นจึงได้เริ่มตั้งหัวข้อที่ต้องการศึกษา ตั้งสมมติฐาน และวิธีการทดลอง ซึ่งหัวข้อที่เกลศึกษาคือ Ownership ของ Self-technical Debt ค่ะ ในการทดลองนี้เกลได้จัดเตรียมข้อมูลและนำมาวิเคราะห์เพื่อหาผลของการทดลองค่ะ

ณฐนนท ฤทธิ์ตา (ปาล์ม): สำหรับผมได้ฝึกงานในเรื่องเกี่ยวกับ Source Code Similarity และ Code Stylometry ซึ่งเป็นงานวิจัยในสายวิศวกรรมซอฟต์แวร์ครับ แต่ด้วยการฝึกงานในครั้งนี้เป็นการฝึกงานผ่านระบบออนไลน์ จึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปจากปกตินิดหน่อยครับ

และสิ่งที่ผมได้ทำในช่วงการฝึกงานนั้น เริ่มจากในช่วงแรกจะเน้นการอ่านงานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ในสายงานของเรื่องที่ผมจะต้องทำโปรเจคครับ หลังจากนั้นก็เริ่มตั้งสมมติฐาน กำหนดหัวข้อการศึกษา และจัดเตรียมข้อมูล ในช่วงสุดท้ายเป็นการทดลองและสรุปผลและได้ออกมาเป็นโปรเจควิจัยที่ชื่อว่า “Code Stylometry and Code Authorship”

เตรียมตัวอย่างไรบ้าง และในการฝึกงานกับชาวต่างชาตินั้นจำเป็นต้องมีประสบการณ์ความรู้อื่น ๆ เพิ่มเติมไหม

ฐชา เส็ตตีวงค์ (เกล): สำหรับเกลความรู้ที่เราได้จากในห้องเรียนก็เพียงพอต่อการเตรียมตัวในการฝึกงานค่ะ แต่เราก็ต้องหาความรู้เพิ่มเติม และเตรียมความพร้อมในเรื่องของการจัดสรรค์เวลาให้ดีด้วยค่ะ

ณฐนนท ฤทธิ์ตา (ปาล์ม): ผมพอทราบอยู่แล้วว่าในการยื่นฝึกงานกับองค์กรส่วนใหญ่จะต้องมีคะแนนเกรดที่ดีในระดับหนึ่ง ผมจึงพยายามรักษาเกรดไว้ให้ดีครับ หลังจากนั้นก็เริ่มเตรียมตัวด้วยการหาข้อมูลการฝึกงานที่ผ่าน ๆ มาของรุ่นพี่ และปรึกษากับอาจารย์ ว่าการทำงานหรือการฝึกงานในเรื่องการวิจัยมีรูปแบบประมาณไหนครับ แต่เนื่องด้วย การฝึกงานกับ NAIST เป็นการฝึกงานที่มีอาจารย์และรุ่นพี่คอยดูแล ประสบการณ์ความรู้ที่ได้มาจากในห้องเรียนที่ผ่านมาก็ถือว่าเพียงพอสำหรับการฝึกงานนี้ครับ แต่ถ้าฝึกฝนจนมีความถนัดในด้าน Programming ก็จะยิ่งช่วยให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้นครับ

 

บรรยากาศการฝึกงานกับชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างไร มีอุปสรรคด้านภาษาและการฝึกงานในรูปแบบออนไลน์ไหม

ฐชา เส็ตตีวงค์ (เกล): ถึงแม้ว่าครั้งนี้จะเป็นการฝึกงานในรูปแบบออนไลน์ แต่บรรยากาศของการฝึกงานเป็นกันเองมาก ๆ เลยค่ะ เพราะอาจารย์จากทั้งทาง NAIST และคณะฯ รวมถึงพี่ ๆ ที่คอยให้คำปรึกษาและแนะนำตลอด เกลจึงมีความมั่นใจ กล้าถามเวลาเกิดข้อสงสัยต่าง ๆ สำหรับเกลอาจจะมีอุปสรรคบ้างในเรื่องของเวลาที่ไม่ตรงกันของประเทศญี่ปุ่นและไทย ส่วนในเรื่องของภาษาก็ไม่เป็นอุปสรรคเลยค่ะ เพราะเราใช้ภาษาอังกฤษในสื่อสารเหมือนปกติในการเรียนการสอนของคณะฯ ค่ะ

ณฐนนท ฤทธิ์ตา (ปาล์ม): บรรยากาศการฝึกงานสำหรับผมนั้นค่อนข้างดีเลยครับ ทุกคนใจดีมาก ซึ่งช่วงลดความกังวลของผมไปได้เยอะเลย ส่วนในเรื่องของภาษาก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคครับ เพราะเราใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารกันเป็นหลัก อย่างไรก็ตามการฝึกงานในรูปแบบออนไลน์สำหรับผมถือเป็นอุปสรรคครับ เพราะว่าเราต้องประชุมกันบ่อยและด้วยเวลาที่ไม่ตรงกันก็ทำให้เกิดความไม่สะดวกขึ้นครับ อีกทั้งยังเข้าถึงข้อมูลที่ใช้ในการทำการวิจัยได้ลำบากขึ้นด้วย

ประโยชน์ที่ได้รับจากการฝึกงานภาคฤดูร้อนกับ NAIST ประเทศญี่ปุ่น

ฐชา เส็ตตีวงค์ (เกล): การฝึกงานครั้งนี้ให้อะไรเกลหลาย ๆ อย่างเลยค่ะ นอกจากได้ความรู้แล้วยังได้ประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับนักวิจัย ได้ทำงานวิจัยด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์ที่กำลังเป็นที่สนใจในปัจจุบัน และตัวเองก็สนใจด้วย นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการค้นหาในสิ่งที่ตัวเองชอบ นอกจากนี้ยังได้ฝึกการนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากในห้องเรียนมาปรับใช้ในการทำงานจริงด้วยค่ะ

ณฐนนท ฤทธิ์ตา (ปาล์ม): ผมได้เรียนรู้หลายอย่างครับ ทั้งรูปแบบการทำงานวิจัยในสายวิศวกรรมซอฟต์แวร์รายละเอียดการทำงานในขั้นตอนต่าง ๆ รวมถึงได้เรียนรู้ทักษะการสื่อสารและการนำเสนอครับ

 

สุดท้ายนี้อยากให้ฝากถึงผู้อ่านที่มีความสนใจเกี่ยวกับการฝึกงานในต่างประเทศ

ฐชา เส็ตตีวงค์ (เกล): สำหรับคนที่สนใจ เกลอยากให้ลองหาข้อมูลและสมัครดูค่ะ การฝึกงานถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการหาสิ่งที่ตัวเองชอบ รวมไปถึงได้ประสบการณ์ในการทำงานเพื่อนำไปใช้ต่อในอนาคต ยิ่งถ้าฝึกงานต่างประเทศเราจะได้ฝึกภาษาและได้เรียนรู้วัฒนธรรมของประเทศอื่น ๆ ด้วยค่ะ ในตอนแรกเราอาจจะไม่มั่นใจหรือกลัวว่าอาจจะไม่ผ่านการสัมภาษณ์ แต่ท้ายที่สุดแล้วความกล้าที่จะลงมือทำจะให้บางสิ่งบางอย่างที่เป็นประโยชน์กับเราแน่นอนค่ะ

ณฐนนท ฤทธิ์ตา (ปาล์ม): ผมอยากจะแนะนำว่า ถ้ามีโอกาสก็ลองศึกษาและยื่นฝึกงานดูเลยครับ เราจะได้รู้ว่าเราชอบและสนใจอะไรจริง ๆ รวมถึงยังได้พัฒนาทักษะการทำงานและภาษาของเราด้วย นอกจากนี้อยากให้พยายามทำผลการเรียนให้ดีครับ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสที่มากขึ้นในการเลือกฝึกงานต่างประเทศของตัวเราเอง