วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ดร. พัฒนศักดิ์ มงคลวัฒน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย Professor Dr. Peter Fereed Haddawy รองคณบดีฝ่ายพัฒนางานวิจัย คณาจารย์ และบุคคลากรประจำคณะ เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) Strategic Partnership Agreement ระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล กับ University of Bremen ซึ่งพิธีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาด้านการศึกษาในระดับอุดมศึกษา และเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการวิจัยและการสร้างนวัตกรรมในด้านต่าง ๆ ร่วมกัน รวมไปถึงการขยายขอบข่ายความร่วมมือใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้นด้วย
โดยมี ศาสตราจารย์ นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.นภเรณู สัจจรักษ์ธีระฐิติ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยมหิดล, Prof. Dr.-Ing. Bernd Scholz-Reiter, President of University of Bremen, Dr. Georg Verweyen, German Academic Exchange Service (DAAD), Prof. Dr. Eva-Maria Feichtner, Vice President International and Diversity, University of Bremen และ Dr. Annette Lang, Head of International Relation Office, University of Bremen, ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง ผ่านระบบออนไลน์ (Zoom)
ในโอกาสนี้ Professor Dr. Peter Fereed Haddawy ได้ร่วมกล่าวแสดงความยินดีในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ พร้อมกล่าวถึงความสำเร็จของกิจกรรมความร่วมมือต่าง ๆ ระหว่างคณะ ICT มหาวิทยาลัยมหิดล และ University of Bremen ตลอดหลายปีที่ผ่านมา อาทิ กิจกรรมแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากร, Summer Research Internship, หลักสูตร Dual Degree Doctoral Program, Joint Research รวมไปถึง Mahidol-Bremen Medical Informatics Research Unit (MIRU) นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ University of Bremen ยังมีแผนจัด joint workshop เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของโรคมาลาเรีย และโรคอื่น ๆ ที่มีสัตว์เป็นพาหะ ณ University of Bremen ในเดือนกรกฎาคม 2564 นี้ อีกด้วย
บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ แตกต่างจากบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทั่วไป กล่าวคือ เป็นข้อตกลงระหว่างคู่พันธมิตรทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership Agreement) ซึ่งมีข้อกำหนดพิเศษ โดยมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งจะบูรณาการแผนทางยุทธศาสตร์ในระยะยาวร่วมกัน และจัดตั้งคณะกรรมการที่เรียกว่า The Mahidol-Bremen Board เพื่อร่วมกันดูแลและติดตามความคืบหน้าการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในเครือข่ายความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นต่อไป