วันที่ 16 กันยายน 2564 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะผู้บริหาร คณาจารย์ และนักเรียนทุนพระราชทานใน “โครงการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราชอาณาจักรกัมพูชา ตามแนวพระราชดำริ” ของทุกสถาบันการศึกษา เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท เพื่อกราบบังคมทูลถวายรายงานผลการดำเนินงานโครงการนักเรียนทุนพระราชทานฯ โดยมี นายอูก ซอต์พวน (H.E. Mr. Ouk Sorphorn) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรกัมพูชา ประจำประเทศไทย กราบบังคมทูลสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พลเอก วิชิต ยาทิพย์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราชอาณาจักรกัมพูชา กราบบังคมทูลรายงานผลการดำเนินงานโครงการนักเรียนทุนพระราชทาน และ นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยคณะกรรมการอำนวยการ เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท พร้อมเบิกคณะผู้บริหาร คณาจารย์และนักเรียนทุนพระราชทาน ประจำปีการศึกษา 2561-2564 เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) ณ ห้องประชุม วังสระปทุม
ในการนี้ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นำโดย ดร.พัฒนศักดิ์ มงคลวัฒน์ คณบดี Mr. Soksedtha Ly นักศึกษาชั้นปีที่ 4 และ Mr. Panhavath Meth นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะ ICT พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ยาใจ สิทธิมงคล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ ผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ ดร.พูลสุข เจนพานิชย์ วิสุทธิพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล คณาจารย์ และนักเรียนทุนพระราชทาน ในโครงการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราชอาณาจักรกัมพูชา ประจำปีการศึกษา 2561 – 2564 จากคณะอื่น ๆ จำนวนทั้งสิ้น 29 คน เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) ณ ห้องเอนกประสงค์ 411 ศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
โครงการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราชอาณาจักรกัมพูชา ดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ถือกำเนิดจากพระราชปณิธาณในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จะพัฒนาระบบการศึกษาที่มีคุณภาพให้แก่เยาวชนกัมพูชา เสมือนเป็นของขวัญพระราชทานที่ยั่งยืนแก่ประชาชนแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งเป็นเพื่อนกันมายาวนาน ของขวัญ ล้ำค่านี้คือ ระบบการศึกษาทั้งสายสามัญ และสายวิชาชีพ ทำให้เกิดโรงเรียนซึ่งจัดการเรียนการสอนสองระบบ หรือ dual system อันเป็นต้นแบบของการเรียนการสอนปัจจุบัน นอกเหนือไปจากนั้นยังทรงห่วงใยในเรื่องสุขภาพอนามัยของนักเรียน ทรงเน้นว่า การศึกษาที่ดีจะต้องควบคู่ไปกับนักเรียน นักศึกษาที่มีสุขอนามัยที่ดีด้วย