HIGHLIGHTS
- พูดคุยเกี่ยวกับ Project ที่นำเทคโนโลยี Virtual Reality (VR) มาใช้ รวมถึงแรงบันดาลใจในการทำงาน
- แบ่งปันประสบการณ์การทำ Project สิ่งที่ได้จากการทำ Project และข้อคิดดี ๆ มากมาย
___________________________________________________________________________________
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันการศึกษาที่มุ่งเป้าจะเป็นสถาบันชั้นนำที่สามารถตอบสนองความต้องการของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วทางด้านการศึกษา การวิจัย และการสร้างนวัตกรรมทางด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัลระดับสากล โดยคณะฯ ได้มุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ตามพันธกิจของคณะฯ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยคณะฯ ได้มีการจัดสรรทุนสนับสนุนโครงงานวิจัยระดับปริญญาตรี (Senior Project) ให้แก่นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ที่ทำโครงงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ซึ่งทุนสนับสนุนฯ นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาตระหนักและเห็นความสำคัญ รวมทั้ง รับรู้ถึงประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีด้านสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มาประยุกต์ใช้ในการทำประโยชน์เพื่อสังคม อันจะก่อให้เกิดโครงงานวิจัยด้าน ICT ที่สามารถนำมาพัฒนาสังคมและชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม
วันนี้พี่ ๆ ทีมงาน ICT Spotlight ได้มีโอกาสสัมภาษณ์นักศึกษา 1 ใน 3 ทีมที่ได้รับการคัดเลือก เพื่อรับทุนสนับสนุนจากคณะฯ ในปีการศึกษา 2562 ได้แก่ นักศึกษาที่ทำโครงงานวิจัยเรื่อง “การจำลองระนาดเอกเสมือนจริงเพื่อฝึกทักษะการเล่นเครื่องดนตรี” หรือ “Virtual Alto Xylophone Trainer” ประกอบด้วย นายอรรถกุล จันทร์ทอง นายวิชญ์พล อินทรปาน และนายธนัท พรหมสุข โดยมี ดร. โมเรศ ปรัชญพฤทธิ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งน้อง ๆ ทั้ง 3 คนกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 สาขาระบบสื่อผสมหลายแบบ (Multimedia Systems) โดยเรื่องราวที่น้อง ๆ ทีม Virtual Alto Xylophone จะแบ่งปันประสบการณ์นั้นจะเป็นอย่างไร ติดตามอ่านกันได้เลยค่ะ
โครงงานวิจัย “การจำลองระนาดเอกเสมือนจริงเพื่อฝึกทักษะการเล่นเครื่องดนตรี” เป็นโครงงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องอะไร และมีวัตถุประสงค์ในการจัดทำอย่างไร
โครงงานวิจัย “การจำลองระนาดเอกเสมือนจริงเพื่อฝึกทักษะการเล่นเครื่องดนตรี” เป็นโครงงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องอะไร และมีวัตถุประสงค์ในการจัดทำอย่างไรโครงงานวิจัยเรื่อง “การจำลองระนาดเอกเสมือนจริงเพื่อฝึกทักษะการเล่นเครื่องดนตรี” เป็น Project ที่นำเทคโนโลยี Virtual Reality (VR) หรือการจำลองสภาพแวดล้อมจริงเข้าไปให้เสมือนจริงโดยผ่านการรับรู้จากการมองเห็น เสียง สัมผัส เพื่อเข้าไปสู่ภาพที่จำลองขึ้นมา มาใช้เพื่อฝึกทักษะการเล่นระนาดเอก ซึ่งสามารถฝึกฝนและเรียนรู้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีเครื่องดนตรีหรือผู้ฝึกสอนแต่อย่างใดครับ ซึ่งเหมาะกับทุกคนที่สนใจอยากเรียนระนาดเอก ตัวโปรแกรมจะสอนตั้งแต่ระดับพื้นฐานไปจนถึงระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นการนั่ง การจับไม้ หรือการอ่านโน้ต จนสามารถตีเป็นเพลงได้เลยครับ
แรงบันดาลใจในการทำ Project นี้คืออะไร
Project ที่พวกผมทำเป็น Project ที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมไทย ซึ่งตรงกับเกณฑ์การรับทุนของโครงการอยู่แล้ว จึงได้ปรึกษากับเพื่อนๆ ในทีมว่าจะทำ Project เรื่องนี้มั้ย เพื่อจะได้ขอทุนสนับสนุนจากคณะฯ ได้ด้วย ซึ่งเพื่อนๆ ก็ตกลงตัดสินใจทำ Project นี้ ในตอนแรกนั้น ก็ไม่ได้เจาะจงว่าจะทำเรื่องระนาดเอก คิดเพียงว่าอยากจะทำ Project ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี VR เท่านั้น จึงได้ปรึกษากันในทีมและได้ข้อสรุปว่าจะทำเรื่องระนาดเอก สำหรับพวกผมแล้วคิดว่าการทำ Project เรื่องระนาดเอก โดยใช้เทคโนโลยี VR นั้นไม่ใช่สิ่งที่ยากเกินกว่าที่พวกผมจะทำได้ ประกอบกับการได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ที่ปรึกษา ทำให้พวกผมมีความเข้าใจมากขึ้นและสามารถทำ Project นี้ออกมาได้ครับ
สิ่งที่ท้าทายที่สุดของการทำ Project นี้คืออะไร
สิ่งที่ท้าทายที่สุดของการทำ Project นี้ คือการแบ่งเวลา เนื่องจากเป็น Project ที่ทำกัน 3 คน ซึ่งปัญหาคือ เราจะมีเวลาว่างในการทำ Project ไม่พร้อมกัน ดังนั้น เราจึงต้องคุยกัน แบ่งงานกันให้ดีและให้ชัดเจนครับ นอกจากนี้ ต้องพยายามที่จะตั้งใจทำงานให้เสร็จตาม Deadline ที่กำหนดไว้ด้วยครับ
ระหว่างทำ Project น้อง ๆ เจอปัญหาอะไรบ้างหรือไม่
ปัญหาที่เจอหลัก ๆ จะมี 2 เรื่องครับ โดยเรื่องแรก คือ การทำในสิ่งที่ไม่เคยมีความรู้มาก่อน เราไม่เคยทำเรื่องนี้กันเลย และเราก็ไม่เคยเจอในห้องเรียนมาก่อนด้วย นั่นทำให้พวกเราต้องไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาจาก internet หรือการสอบถามอาจารย์ที่ปรึกษา และผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง เรื่องที่สอง คือ เรื่องความรับผิดชอบ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องคุยกันให้ดีก่อนครับ ยกตัวอย่างเช่น การอัปเดตกันตลอดว่า Project ของเรายังขาดส่วนไหนอยู่ และต้องเพิ่มเติมส่วนใดอีกบ้าง ทำให้ทีมของเราเกิดความเข้าใจที่ตรงกัน และทำให้เกิดความตั้งใจทำงานร่วมกันมากขึ้นครับ
อะไรบ้างคือสิ่งที่น้อง ๆ ได้จากการทำ Project นี้
อย่างแรกเลยเป็นเรื่องของการทำงานเป็นทีมครับ ในตอนแรกเราอาจจะพบเจอปัญหาในการแบ่งงานที่ไม่ค่อยมีระบบระเบียบแบบแผนกันอยู่บ้าง แต่นั่นทำให้เราได้เรียนรู้และฝึกฝนที่จะทำงานร่วมกันเป็นทีม รวมทั้ง ทำให้เรามีความรับผิดชอบเพิ่มมากยิ่งขึ้นด้วยครับ
อย่างที่สองเป็นเรื่องของการติดต่อประสานงานกับบุคคลภายนอก ซึ่ง Project ของพวกผมจะต้องขอข้อมูลและองค์ความรู้เกี่ยวกับระนาดเอก โดยในครั้งนี้ พวกผมได้รับความอนุเคราะห์ข้อมูลจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และเนื่องจากการที่พวกผมไม่เคยติดต่อบุคคลภายนอกคณะฯ มาก่อน จึงเป็นอะไรที่ค่อนข้างแปลกใหม่สำหรับพวกผมมากครับ
Project นี้ทำประโยชน์เพื่อสังคมด้านไหน และอย่างไร
Project ของผมเป็น Project เกี่ยวกับการสอนระนาดเอก ซึ่งเป็นการสืบสานศิลปะเครื่องดนตรีไทย ซึ่งหากผู้สนใจมีข้อจำกัดด้านการเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องดนตรี หรืออาจจะไม่มีครูสอน Project ของพวกผมก็สามารถเป็นทางเลือกสำหรับการเรียนรู้ได้ครับ
ถ้าน้องๆ นักศึกษาของคณะฯ อยากได้ทุนสนับสนุน senior project บ้างต้องทำอย่างไร
เราต้องดูก่อนว่า Project ของเราตรงตามเกณฑ์และข้อกำหนดของการรับทุนมั้ย โดยสามารถติดตามรายละเอียดข้อมูลต่าง ๆ ได้ในเว็บไซต์ My Courses ของคณะฯ ถ้า Project ของเราตรงตามข้อกำหนดนั้น เราก็สามารถสมัครเพื่อรับทุนฯ ได้ครับ
สุดท้าย อยากฝากอะไรกับน้อง ๆ ที่กำลังเตรียมตัวทำ senior project
สิ่งที่อยากจะฝากอย่างแรกคือ การเลือกทีม ซึ่งการเลือกของเราจะต้องไม่เลือกแค่ว่าเป็นเพื่อนของเราเท่านั้นแต่เราต้องดูก่อนว่า เค้ามีความรับผิดชอบที่จะสามารถทำงานร่วมกับเราได้มั้ย
อย่างที่สองคือ การเลือกหัวข้อเรื่องที่จะทำ Project โดยอาจจะต้องหาจุดร่วมในการทำระหว่างเราและอาจารย์ที่ปรึกษา เพื่อให้เราทำงานนั้นออกมาได้ดีจริง ๆ
สำหรับโครงงานวิจัยระดับปริญญาตรี (Senior Project) เรื่อง “การจำลองระนาดเอกเสมือนจริงเพื่อฝึกทักษะการเล่นเครื่องดนตรี” หรือ “Virtual Alto Xylophone Trainer” ถือเป็น Project หนึ่งที่นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับดนตรีไทยได้อย่างลงตัว อีกทั้งยังช่วยทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทยให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจเครื่องดนตรีไทยได้อีกด้วย หากเพื่อน ๆ น้อง ๆ ที่อยากทดลองเล่นโปรแกรม Virtual Alto Xylophone Trainer ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นเตรียมต่อยอดในอนาคต หากโปรแกรมนี้มีการเปิดใช้งานแล้ว ทางทีมงาน ICT Spotlight จะนำมารีวิวให้ทุกท่านได้ชมกันอีกครั้งค่ะ