ระหว่างวันที่ 11 – 16 พฤศจิกายน 2567 นักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล (ICT Mahidol) จำนวน 2 ทีม ได้แก่ ทีม “บ้านและสวน 2024” และ ทีม “บ้านและสวน 2024 สาขา 2” ได้เข้าร่วมการแข่งขันประชันทักษะทางด้านระบบสมองกลฝังตัวชิงแชมป์ประเทศไทยครั้งที่ 18 (TESA Top Gun Rally 2024) ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้หัวข้อ “การบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ด้วยเสียง และปัญญาประดิษฐ์โดยการคำนวณผลต้นทาง (Acoustic and AI-Based Predictive Maintenance with Edge Computing)” โดยมี ผศ. ดร.ฐิตินันท์ ตันติธรรม อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และ ดร.สิรวิชญ์ เวชมนัส อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ เป็นผู้ช่วยอาจารย์ที่ปรึกษาทีม ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา
โดย “ทีมบ้านและสวน 2024” ซึ่งเป็นทีมหลัก ประกอบไปด้วย นายองศา รักสลาม นักศึกษาชั้นปีที่ 2 นักศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT หลักสูตรนานาชาติ) นางสาวพิชามญชุ์ องค์วิมลการ นายจักรกฤษณ์ ตันซื่อ นายพัคพันธ์ เพิ่มวณิชกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 3 และ นายสิริเชษฐ์ นนธิจันทร์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการและเทคโนโลยีดิจิทัล (DST หลักสูตรไทย)
นอกจากนี้ ยังมี “ทีมบ้านและสวน 2024 สาขา 2” ซึ่งเป็นทีมสังเกตการณ์ ประกอบไปด้วย นางสาววรรลิดา ศุภศรีอิสระ นางสาวนภสร ลาภประกอบกิจ นายพิชิตชัย แพเจริญชัย นักศึกษาชั้นปีที่ 2 พร้อมด้วยนายคุณาภูมิ โอพริก และ นายธนภัทร บุญเลี้ยง นักศึกษาชั้นปีที่ 3 หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการและเทคโนโลยีดิจิทัล (DST หลักสูตรไทย) เข้าร่วมการแข่งขัน
“การแข่งขันประชันทักษะทางด้านระบบสมองกลฝังตัวชิงแชมป์ประเทศไทยครั้งที่ 18 (TESA Top Gun Rally 2024)” มีผู้เข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 50 ทีม จาก 26 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งเป็นโครงการที่จัดขึ้นโดยสมาคมสมองกลฝังตัวไทย (TESA) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมผู้มีความสามารถด้านระบบสมองกลฝังตัว ได้นำความคิดสร้างสรรค์ และเทคนิคการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ (Predictive Maintenance) ที่ใช้เทคโนโลยีเสียง (Acoustic) ร่วมกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการคำนวณผลต้นทาง (Edge Computing) มาบูรณาการร่วมกันเพื่อวิเคราะห์และคาดการณ์ความผิดปกติในระบบอุปกรณ์หรือเครื่องจักร เพื่อป้องกันการเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น เมื่อเครื่องจักรหยุดทำงาน