วันที่ 23 มีนาคม 2568 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล (ICT Mahidol) นำโดย ผศ. ดร.โมเรศ ปรัชญพฤทธิ์ ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีเกมและเกมมิฟิเคชัน (หลักสูตรนานาชาติ) และ หัวหน้ากลุ่มวิจัย ImmerSense Laboratory พร้อมด้วย คุณศิริรัตน์ วิทยาคุณสถิต นักวิชาการโสตทัศนศึกษา งานโสตและเทคโนโลยีสื่อการศึกษา คุณเฉลิมพล ภูวัชร์อดิสิฐ นักวิชาการโสตทัศนศึกษา งานพัฒนาสื่อผสม กองเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ คุณสิบแสน สุขสุชะโน ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ภาควิชาวิทยาการคำนวณและเทคโนโลยีดิจิทัล คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษในการอบรมด้าน “Technology and AI for Education: ยกระดับประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย และ ภาษาอังกฤษด้วยเทคโนโลยี และ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) สู่การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนในยุคดิจิทัล” รุ่นที่ 2 ในหัวข้อ “Beyond the Classroom: การเรียนรู้และนำเสนอผลงานในโลก Metaverse” ซึ่งเป็นการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับความรู้เบื้องต้นของการสร้างโลกเสมือนจริง “Metaverse” ด้วยการใช้เว็บแอปพลิเคชัน Spatial ให้แก่ ครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ทั่วประเทศกว่า 300 คน ในรุ่นที่ 2 ณ โรงแรมอเล็กซานเดอร์ กรุงเทพฯ
การอบรมด้าน “Technology and AI for Education: ยกระดับประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย และ ภาษาอังกฤษ ด้วยเทคโนโลยี และ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) สู่การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนในยุคดิจิทัล” เป็นโครงการที่จัดขึ้นโดย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับและพัฒนาศักยภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษาในการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence (AI)) ซึ่งครอบคลุมการออกแบบการจัดการเรียนการสอน การพัฒนาสื่อการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน และการวิจัยในชั้นเรียน ตลอดจนสร้างความตระหนักในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และ AI อย่างปลอดภัย มีจริยธรรมและความรับผิดชอบ โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างสมรรถนะผู้เรียนในยุคดิจิทัล ซึ่งสอดคล้องกับการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล PISA และทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (21st Century Skills) ซึ่งจะช่วยให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและความท้าทายในอนาคต