HIGHLIGHTS
- พูดคุยเกี่ยวกับ Project ที่นำเทคโนโลยี Virtual Reality (VR) มาใช้ รวมถึงแรงบันดาลใจในการทำงาน
- แบ่งปันประสบการณ์การทำ Project สิ่งที่ได้จากการทำ Project และข้อคิดดี ๆ มากมาย
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันการศึกษาที่มุ่งเป้าจะเป็นสถาบันชั้นนำที่สามารถตอบสนองความต้องการของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วทางด้านการศึกษา การวิจัย และการสร้างนวัตกรรมทางด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัลระดับสากล โดยคณะฯ ได้มุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ตามพันธกิจของคณะฯ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยคณะฯ ได้มีการจัดสรรทุนสนับสนุนโครงงานวิจัยระดับปริญญาตรี (Senior Project) ให้แก่นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ที่ทำโครงงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ซึ่งทุนสนับสนุนฯ นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาตระหนักและเห็นความสำคัญ รวมทั้ง รับรู้ถึงประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีด้านสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มาประยุกต์ใช้ในการทำประโยชน์เพื่อสังคม อันจะก่อให้เกิดโครงงานวิจัยด้าน ICT ที่สามารถนำมาพัฒนาสังคมและชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม
วันนี้พี่ ๆ ทีมงาน ICT Spotlight ได้มีโอกาสสัมภาษณ์นักศึกษา 1 ใน 3 ทีมที่ได้รับการคัดเลือก เพื่อรับทุนสนับสนุนจากคณะฯ ในปีการศึกษา 2562 ได้แก่ นักศึกษาที่ทำโครงงานวิจัยเรื่อง “การจำลองระนาดเอกเสมือนจริงเพื่อฝึกทักษะการเล่นเครื่องดนตรี” หรือ “Virtual Alto Xylophone Trainer” ประกอบด้วย นายอรรถกุล จันทร์ทอง นายวิชญ์พล อินทรปาน และนายธนัท พรหมสุข โดยมี ดร. โมเรศ ปรัชญพฤทธิ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งน้อง ๆ ทั้ง 3 คนกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 สาขาระบบสื่อผสมหลายแบบ (Multimedia Systems) โดยเรื่องราวที่น้อง ๆ ทีม Virtual Alto Xylophone จะแบ่งปันประสบการณ์นั้นจะเป็นอย่างไร ติดตามอ่านกันได้เลยค่ะ
โครงงานวิจัย “การจำลองระนาดเอกเสมือนจริงเพื่อฝึกทักษะการเล่นเครื่องดนตรี” เป็นโครงงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องอะไร และมีวัตถุประสงค์ในการจัดทำอย่างไร
โครงงานวิจัย “การจำลองระนาดเอกเสมือนจริงเพื่อฝึกทักษะการเล่นเครื่องดนตรี” เป็นโครงงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องอะไร และมีวัตถุประสงค์ในการจัดทำอย่างไรโครงงานวิจัยเรื่อง “การจำลองระนาดเอกเสมือนจริงเพื่อฝึกทักษะการเล่นเครื่องดนตรี” เป็น Project ที่นำเทคโนโลยี Virtual Reality (VR) หรือการจำลองสภาพแวดล้อมจริงเข้าไปให้เสมือนจริงโดยผ่านการรับรู้จากการมองเห็น เสียง สัมผัส เพื่อเข้าไปสู่ภาพที่จำลองขึ้นมา มาใช้เพื่อฝึกทักษะการเล่นระนาดเอก ซึ่งสามารถฝึกฝนและเรียนรู้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีเครื่องดนตรีหรือผู้ฝึกสอนแต่อย่างใดครับ ซึ่งเหมาะกับทุกคนที่สนใจอยากเรียนระนาดเอก ตัวโปรแกรมจะสอนตั้งแต่ระดับพื้นฐานไปจนถึงระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นการนั่ง การจับไม้ หรือการอ่านโน้ต จนสามารถตีเป็นเพลงได้เลยครับ
ระหว่างทำ Project น้อง ๆ เจอปัญหาอะไรบ้างหรือไม่
ปัญหาที่เจอหลัก ๆ จะมี 2 เรื่องครับ โดยเรื่องแรก คือ การทำในสิ่งที่ไม่เคยมีความรู้มาก่อน เราไม่เคยทำเรื่องนี้กันเลย และเราก็ไม่เคยเจอในห้องเรียนมาก่อนด้วย นั่นทำให้พวกเราต้องไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาจาก internet หรือการสอบถามอาจารย์ที่ปรึกษา และผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง เรื่องที่สอง คือ เรื่องความรับผิดชอบ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องคุยกันให้ดีก่อนครับ ยกตัวอย่างเช่น การอัปเดตกันตลอดว่า Project ของเรายังขาดส่วนไหนอยู่ และต้องเพิ่มเติมส่วนใดอีกบ้าง ทำให้ทีมของเราเกิดความเข้าใจที่ตรงกัน และทำให้เกิดความตั้งใจทำงานร่วมกันมากขึ้นครับ
อะไรบ้างคือสิ่งที่น้อง ๆ ได้จากการทำ Project นี้
อย่างแรกเลยเป็นเรื่องของการทำงานเป็นทีมครับ ในตอนแรกเราอาจจะพบเจอปัญหาในการแบ่งงานที่ไม่ค่อยมีระบบระเบียบแบบแผนกันอยู่บ้าง แต่นั่นทำให้เราได้เรียนรู้และฝึกฝนที่จะทำงานร่วมกันเป็นทีม รวมทั้ง ทำให้เรามีความรับผิดชอบเพิ่มมากยิ่งขึ้นด้วยครับ
อย่างที่สองเป็นเรื่องของการติดต่อประสานงานกับบุคคลภายนอก ซึ่ง Project ของพวกผมจะต้องขอข้อมูลและองค์ความรู้เกี่ยวกับระนาดเอก โดยในครั้งนี้ พวกผมได้รับความอนุเคราะห์ข้อมูลจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และเนื่องจากการที่พวกผมไม่เคยติดต่อบุคคลภายนอกคณะฯ มาก่อน จึงเป็นอะไรที่ค่อนข้างแปลกใหม่สำหรับพวกผมมากครับ
Project นี้ทำประโยชน์เพื่อสังคมด้านไหน และอย่างไร
Project ของผมเป็น Project เกี่ยวกับการสอนระนาดเอก ซึ่งเป็นการสืบสานศิลปะเครื่องดนตรีไทย ซึ่งหากผู้สนใจมีข้อจำกัดด้านการเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องดนตรี หรืออาจจะไม่มีครูสอน Project ของพวกผมก็สามารถเป็นทางเลือกสำหรับการเรียนรู้ได้ครับ
ถ้าน้องๆ นักศึกษาของคณะฯ อยากได้ทุนสนับสนุน senior project บ้างต้องทำอย่างไร
เราต้องดูก่อนว่า Project ของเราตรงตามเกณฑ์และข้อกำหนดของการรับทุนมั้ย โดยสามารถติดตามรายละเอียดข้อมูลต่าง ๆ ได้ในเว็บไซต์ My Courses ของคณะฯ ถ้า Project ของเราตรงตามข้อกำหนดนั้น เราก็สามารถสมัครเพื่อรับทุนฯ ได้ครับ
สุดท้าย อยากฝากอะไรกับน้อง ๆ ที่กำลังเตรียมตัวทำ senior project
สิ่งที่อยากจะฝากอย่างแรกคือ การเลือกทีม ซึ่งการเลือกของเราจะต้องไม่เลือกแค่ว่าเป็นเพื่อนของเราเท่านั้นแต่เราต้องดูก่อนว่า เค้ามีความรับผิดชอบที่จะสามารถทำงานร่วมกับเราได้มั้ย
อย่างที่สองคือ การเลือกหัวข้อเรื่องที่จะทำ Project โดยอาจจะต้องหาจุดร่วมในการทำระหว่างเราและอาจารย์ที่ปรึกษา เพื่อให้เราทำงานนั้นออกมาได้ดีจริง ๆ
สำหรับโครงงานวิจัยระดับปริญญาตรี (Senior Project) เรื่อง “การจำลองระนาดเอกเสมือนจริงเพื่อฝึกทักษะการเล่นเครื่องดนตรี” หรือ “Virtual Alto Xylophone Trainer” ถือเป็น Project หนึ่งที่นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับดนตรีไทยได้อย่างลงตัว อีกทั้งยังช่วยทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทยให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจเครื่องดนตรีไทยได้อีกด้วย หากเพื่อน ๆ น้อง ๆ ที่อยากทดลองเล่นโปรแกรม Virtual Alto Xylophone Trainer ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นเตรียมต่อยอดในอนาคต หากโปรแกรมนี้มีการเปิดใช้งานแล้ว ทางทีมงาน ICT Spotlight จะนำมารีวิวให้ทุกท่านได้ชมกันอีกครั้งค่ะ