คณบดีคณะ ICT ม.มหิดล (ICT Mahidol) เข้าร่วมงาน “Human Interaction for Systematic Innovation” พลิกโฉมการแพทย์ไทย ผสานกระบวนการคิด Design Thinking เข้ากับการวิจัยทางการแพทย์

วันที่ 21 มกราคม 2568 ดร. พัฒนศักดิ์ มงคลวัฒน์ คณบดี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล (ICT Mahidol) พร้อมด้วย คณาจารย์ และบุคลากร เข้าร่วมงาน “Human Interaction for Systematic Innovation” พลิกโฉมการแพทย์ไทย ผสานกระบวนการคิด Design Thinking เข้ากับการวิจัยทางการแพทย์ เพื่อรับฟังการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับ Systematic Framework ที่จะทำให้เกิดนวัตกรรมทางด้านการแพทย์ในอนาคต โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ และกรรมการมูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดลในพระราชูปถัมภ์ เป็นประธานกว่าวเปิดงาน ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

ในโอกาสนี้ Dr. Steven D. Eppinger, General Motors Leaders for Global Operations Professor and Professor of Management Science and Innovation MIT Sloan School of Management รับหน้าที่ Keynote Speaker ถ่ายทอดความรู้ด้าน Design Thinking and Innovation ในหัวข้อ “Systematic Innovation through Human-Centered Design” ซึ่งเป็นการแบ่งปันมุมมองและสร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับทักษะกระบวนการคิดและนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วิชิตา รักธรรม รองอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและภาพลักษณ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

โดยหลังจากนั้น คุณผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ได้ร่วมอภิปรายในหัวข้อ “Empowering Thailand’s Economy Through Innovation” และปิดท้ายด้วย Panel Discussion ในหัวข้อ “Revolutionizing Thai Healthcare Through Innovation: นวัตกรรมพลิกอนาคตวงการแพทย์ไทย” โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ศาสตราจารย์ นพ.สุรเดช หงส์อิง อาจารย์ประจำสาขาวิชาโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และ รองศาสตราจารย์ ดร.ปฐมพล วงศ์ตระกูลเกตุ อาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี คุณณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว บริษัท เดอะสแตนดาร์ด จำกัด เป็นผู้ดำเนินรายการ

งาน “Human Interaction for Systematic Innovation” จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีสำคัญในการรวบรวมองค์ความรู้และนวัตกรรมระดับโลก โดยมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการและนักวิจัยทางการแพทย์ เพื่อปฏิรูปวงการแพทย์ไทยผ่านกระบวนการคิดในกรอบแนวคิดเชิงระบบ (Systematic Framework) ซึ่งนำไปสู่นวัตกรรมที่มีศักยภาพในการสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต นอกจากนี้ ยังเป็นการเริ่มต้นโครงการระดมทุนเพื่อการรักษาโรคมะเร็งด้วยการใช้เซลล์แทนเคมีบำบัด โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนมูลนิธิมหิดลเพื่อความยั่งยืน มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยโครงการนี้มุ่งเน้นการจัดตั้งโรงงานผลิตยาที่มีชีวิต (MU-Bio Plant) ซึ่งเป็นการผลิตยาจากเซลล์ที่มีชีวิต (Living Drug) ในกลุ่มยา Advanced Therapy Medicine Product (ATMP) แห่งแรกของประเทศไทย เพื่อขยายศักยภาพการผลิตยาสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งและโรคร้ายแรงในประเทศและภูมิภาค พร้อมตอบสนองความท้าทายทางสุขภาพทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างยั่งยืน

ขอบคุณภาพจากมหาวิทยาลัยมหิดล