อาจารย์คณะ ICT ม.มหิดล (ICT Mahidol) ได้รับเชิญเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ ในหัวข้อ “ความรู้พื้นฐานด้าน Cyber Security, AI และการนำไปประยุกต์ใช้ในอนาคต”

วันที่ 9 มกราคม 2568 ดร.พัฒนศักดิ์ มงคลวัฒน์ คณบดี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล (ICT Mahidol) ให้การต้อนรับและกล่าวเปิดการอบรมในหัวข้อ “ความรู้พื้นฐานด้าน Cyber Security, AI และการนำไปประยุกต์ใช้ในอนาคต” ซึ่งเป็นกิจกรรมของการฝึกอบรมหลักสูตร “การบริหารงานตำรวจชั้นสูง รุ่นที่ 57” จัดโดย กองบัญชาการศึกษา วิทยาลัยการตำรวจ โดยมี ผศ.ดร. ธนพล นรเสฏฐ์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการศึกษา พร้อมด้วย ดร.อัษฎารัตน์ คูรัตน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการจัดการความเสี่ยงและความมั่นคงทางไซเบอร์ ดร.อิทธิพล รัศมีโรจน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี และ รศ. ดร.วัสกา วิสุทธิวิเศษ ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาความมั่นคงไซเบอร์และการประกันสารสนเทศ ร่วมเป็นวิทยากร และได้รับเกียรติจาก ศ.พล.ต.ต.ดร. กิตติ์ธนทัต เลอวงศ์รัตน์ รองผู้บัญชาการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้บรรยายในหัวข้อ “ภัยคุกคามโลกในอนาคตกับสิ่งที่จ้องจับตามอง (Global Threats to the World and Key Issues to Watch)” ให้แก่ ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการส่วนราชการอื่น และ พนักงานรัฐวิสาหกิจ จำนวน 93 คน ณ ห้อง Grand Auditorium ชั้น 4 คณะ ICT มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

การฝึกอบรมหลักสูตร “การบริหารงานตำรวจชั้นสูง รุ่นที่ 57” จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้รับความรู้เกี่ยวกับความมั่นคงไซเบอร์ (Cybersecurity) และการประยุกต์ใช้ความรู้ด้าน ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence (AI)) ร่วมกัน โดยคณาจารย์ของคณะ ICT ได้ร่วมกันถ่ายทอดองค์ความรู้ในหัวข้อต่างๆ ดังนี้

  • ดร.พัฒนศักดิ์ มงคลวัฒน์ ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับความรู้เบื้องต้นของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence (AI))
  • ผศ.ดร. ธนพล นรเสฏฐ์ บรรยายพิเศษในหัวข้อ “AI and AI Projects” ซึ่งเป็นการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี AI, การเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning), การเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) และการใช้ AI ร่วมกับความมั่นคงไซเบอร์ (Cybersecurity)
  • รศ. ดร.วัสกา วิสุทธิวิเศษ บรรยายในหัวข้อ “Reconsidering Cybersecurity, Trends, and Some Research Topics” ซึ่งเป็นการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับแนวโน้มและพัฒนาการของอาชญากรรมไซเบอร์ (Cyber Crime Trends), เทคนิคการโจมตีแบบ Social Engineering ในปัจจุบัน และการใช้ AI ร่วมกับความมั่นคงไซเบอร์ (Cybersecurity)
  • ดร.อิทธิพล รัศมีโรจน์ เป็นผู้บรรยายในหัวข้อ “Cloud Security” ซึ่งเป็นการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานของระบบ Cloud และกระบวนการป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลจากการโจมตีทางไซเบอร์
  • ดร.อัษฎารัตน์ คูรัตน์ บรรยายในหัวข้อ “Information Security Management” ซึ่งเป็นการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับกระบวนการจัดการและปกป้องข้อมูลที่สำคัญขององค์กรจากภัยคุกคามทั้งภายในและภายนอก