อาจารย์คณะ ICT ม.มหิดล (ICT Mahidol) ได้รับเชิญเป็นผู้บรรยายพิเศษภายในงาน “2024 SEAMEO Inter-Regional Research Symposium (IRRS)”

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 Professor Dr. Peter Haddawy, Global Talent Professor คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล (ICT Mahidol) ได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษในงานประชุมวิชาการ “2024 Inter-Regional Research Symposium (IRRS)” ภายใต้หัวข้อ “Transforming Higher Education: Towards Sustainable Development” ซึ่งจัดขึ้นโดย ศูนย์ภูมิภาคขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าด้วยการอุดมศึกษาและการพัฒนา (SEAMEO RIHED) ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และเครือข่ายความร่วมมือด้านอุดมศึกษาทั้งในภูมิภาคอาเซียน ภูมิภาคยุโรปและระหว่างภูมิภาคอื่นๆ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวต้อนรับ และ คุณศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการฯ ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพมหานครฯ

ในโอกาสนี้ Professor Dr. Peter Haddawy ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “Navigating Digital Transformation in Higher Education” ซึ่งครอบคลุมประเด็นเกี่ยวกับผลกระทบของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence (AI)) ต่อการศึกษาระดับอุดมศึกษาและตลาดแรงงาน ตลอดจนแนวทางที่สถาบันการศึกษาสามารถปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการบรรยายดังกล่าวได้รับความสนใจจากบุคคลสำคัญในแวดวงการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ กว่า 200 คน อาทิ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย อธิบดีคณะกรรมการการอุดมศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ เยาวชน และกีฬา ราชอาณาจักรกัมพูชา อธิบดีกรมการศึกษาขั้นสูง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าด้วยการอุดมศึกษาและการพัฒนา (SEAMEO RIHED)

การประชุมวิชาการ 2024 SEAMEO Inter-Regional Research Symposium (IRRS) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-22 พฤศจิกายน 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีสำคัญสำหรับผู้นำ ผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการ นักการศึกษา และนักวิจัยในแวดวงอุดมศึกษาของ SEAMEO RIHED ได้ร่วมกันหารือและกำหนดทิศทางความร่วมมือเพื่อสร้างอนาคตอุดมศึกษาที่ยั่งยืน โดยกิจกรรมสำคัญภายในงานประกอบด้วย การเสวนาระดับนโยบายว่าด้วยการอุดมศึกษาในภูมิภาค การบรรยายพิเศษจากผู้เชี่ยวชาญในหัวข้อสำคัญ 3 ด้าน ประกอบไปด้วย เส้นทางการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นและการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning and Flexible Learning Pathway) การพัฒนาด้านดิจิทัลอย่างยั่งยืน (Digital Sustainability) และ การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) การนำเสนอนวัตกรรมและผลงานวิจัยที่มีผลกระทบเด่นชัดต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในหัวข้อข้างต้น และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และติดตามความก้าวหน้าในแวดวงอุดมศึกษา ผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการขององค์กรภาคี ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่สะท้อนความมุ่งมั่นในการส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการพัฒนา ที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลก